ReadyPlanet.com
dot
กิจกรรมของมูลนิธิกองทุนรักษ์ช้าง ที่ยังทำอย่างต่อเนื่อง
dot
พระพิฆเนศ ปางนาฏลีลาประทานพร
dot
ค้นหาบทความ

dot
เรารักษ์ช้าง


Swissotel Nai Lert Park Bangkok
Muang Thai Life Assurance
Baiyoke Group of Hotels


ช้างบ้าน...กับควาญช้าง article

ช้างงานหรือช้างบ้าน ที่มามีวิถีชีวิตเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับคนนั้น แต่เดิมก็คือช้างที่อยู่ในป่า มีบรรพบุรุษอยู่ในป่า แต่ชาวบ้านได้ไปคล้องช้าง ตัวที่มีอายุน้อย ๆ มาฝึก เพื่อใช้งาน

หลักของการจับช้าง จะต้องจับลูกช้าง ที่มีอายุ 3 ปีขึ้นไป เพราะลูกช้างหย่านมแม่แล้ว ถ้าจับลูกช้างที่มีอายุน้อยกว่า 3 ปี มาเลี้ยงไว้ใช้งาน ช้างเหล่านี้จะมีชีวิตอยู่ไม่นาน เนื่องจากช้างที่อายุประมาณ 1-2 ปี จะต้องอาศัยน้ำนมจากแม่ช้างเป็นอาหารสำคัญ ในการช่วยให้ร่างกายเจริญเติบโต และมีแร่ธาตุแคลเซียม บำรุงกระดูกให้แข็งแรง

ลูกช้างที่มีอายุน้อยกว่า 3 ปี และถูกนำมาใช้งานก่อนเวลาอันควร มักจะเป็นโรคกระดูกกร่อน และไม่สามารถทำงานหนักได้เลย ดังที่เราได้เห็นตัวอย่างหลาย ๆ ครั้ง กับลูกช้างที่ต้องเสียชีวิตไป ภายหลังจากการพรากลูกช้างมาจากแม่ได้ไม่นานนัก ดังนั้นเมื่อมีพิธีคล้องช้าง หมอช้างจึงต้องระมัดระวังในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก

เมื่อช้างป่าถูกจับมาแล้ว จะถูกฝึกสอน เพื่อช่วยมนุษย์ทำงาน ช้างเป็นสัตว์ที่ฉลาด สามารถฝึกให้ทำงานได้สารพัด ไม่ว่าจะเป็นการชักลากไม้ การบรรทุกคนและสิ่งของ หรือแม้กระทั่งเป็นสัตว์พาหนะในยามศึกสงคราม

ผู้ที่มีหน้าที่ดูแลช้าง เราเรียกกันว่า "ควาญช้าง" อาจกล่าวได้ว่า ควาญช้าง เปรียบเสมือน "พ่อ" หรือ "ครู" ของช้างก็ว่าได้ เพราะเป็นทั้งผู้ที่สั่งสอน และทำหน้าที่เลี้ยงดูช้าง ไปในเวลาเดียวกัน บ้างก็เปรียบเหมือน พี่กับน้อง หรือเจ้านายกับลูกน้องคู่ใจ ไม่ว่าจะเปรียบคู่ช้างกับควาญเหมือนอะไร ก็มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน คือ ความผูกพันอันแนบแน่นระหว่างช้างกับควาญนั่นเอง ผู้ที่ทำอาชีพเป็นควาญช้าง มักพูดกันเล่น ๆ ว่า "ทำงานเป็นควาญช้าง เหมือนแต่งงานกับช้าง" คำเปรยนี้ ไม่มากเกินความจริงเลย สำหรับควาญช้างบางคน เพราะควาญช้างต้องดูแลช้างอย่างใกล้ชิด บางคนใช้ชีวิตกับช้าง เดือนหนึ่ง 26 วัน และมีเวลาอยู่กับครอบครัวเพียง 4 วันเท่านั้น บางครอบครัวถือเอาช้างรวมเข้า ประหนึ่งดังสมาชิกในครอบครัว

มีสุภาษิตทางภาคเหนือของไทย กล่าวไว้ว่า "หมาหลายเจ้า ช้างหลายควาญ คบไม่ได้" เป็นเพราะว่า โดยปกติแล้ว ช้างมักอยู่กับควาญช้าง คนใดคนหนึ่งไปตลอดชีวิต การเปลี่ยนควาญช้างบ่อย ๆ จะทำให้ช้างมีนิสัยวอกแวก เอาแน่เอานอนไม่ได้ กลายเป็นช้างที่ไม่มีใครต้องการ

หน้าที่ของควาญช้างในแต่ละวัน จะเริ่มตั้งแต่ย่ำรุ่ง ต้องนำอาหารไปให้ช้าง หาน้ำสะอาดให้กิน ก่อนจะนำช้างไปทำงาน จนกระทั่งเย็น จะต้องหาหลักผูกมัดช้างให้ดี เป็นที่ที่ปลอดภัยสำหรับการพักผ่อน และกะให้ว่าช้างสามารถเดินหากินเองได้ตลอดคืน

การนำช้างไปใช้งานนั้น จะต้องมีความปราณี เห็นอกเห็นใจ เพราะช้าง มิใช่ เครื่องยนต์ที่ปราศจากชีวิต ต้องให้ช้างมีเวลาพักผ่อน ไม่ใช้งานเกินกำลังความสามารถของช้าง ให้ช้างได้กินอาหาร ได้น้ำสะอาดอย่างเพียงพอในระหว่างการทำงาน อย่างเช่น ในการทำไม้สมัยก่อน องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐที่มีบทบาทอย่างมากในการใช้งานและดูแลช้างของประเทศไทย มีการตั้งระเบียบการใช้งานช้างว่า ใช้งานช้างสามวัน หยุดสองวัน ไม่ให้ใช้งานช้างตลอดช่วงฤดูร้อน และไม่ให้ช้างทำงานกลางคืน เนื่องจากสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม อาจเกิดอันตรายกับช้าง ทำให้ช้างพิการหรือเสียชีวิตได้

จะเห็นได้ว่า ช้าง และควาญช้าง เป็นสองชีวิตที่มีความสัมพันธ์อย่างแยกกันไม่ออก หากควาญช้างมีคุณภาพชีวิตที่ดี ก็จะส่งผลไปถึงการดูแลช้างที่ดีด้วย ในทางกลับกัน เมื่อเราต้องการยกระดับความสำคัญของช้าง ก็ต้องไม่ลืมยกระดับและให้ความสำคัญกับควาญช้างด้วย

 

 

 




รักษ์ช้าง ชวนอ่าน

ไขข้อสงสัย ช. ช้าง "อ้วน" หรือ "ผอม"
ดูให้เป็น...ช้างสุขภาพดีเป็นอย่างไร
อนาคตของช้าง เริ่มต้นที่เรา article
ช้างเร่ร่อน article
วิกฤติการณ์ ของช้างบ้านในอดีต article
ช้าง สัตว์ล้ำค่าของชาติไทย article