ช้างมีรูจมูกสองรู เวลาช้างดมกลิ่น กลิ่นจะผ่านท่อหายใจเข้าไปในช่องโพรงจมูกของช้าง ในช่องโพรงจมูกนี้เอง จะมีโครงสร้างกระดูกอ่อนลักษณะเป็นแผ่นที่แตกแขนงออก และบุด้วยเซล์รับกลิ่นจำนวนมากคอยส่งสัญญาณกลิ่นที่ได้รับไปยังสมอง จากโครงสร้างนี้เอง ทำให้เราทราบว่าช้างเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดหนึ่ง ที่มีความสามารถดีในการดมกลิ่น (macrosmatic mammal)
นักวิทยาศาสตร์ พบว่าช้างแอฟริกามียีนที่ควบคุมตัวรับสัญญาณกลิ่น (olfactory receptor genes) มากถึงกว่า 2,000 ยีน ซึ่งมากกว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิดที่เคยศึกษามาก่อนหน้านี้
เซลล์รับสัญญาณจากกลิ่นแต่ละกลิ่นจะมีจำนวนยีนมาควบคุมเพียง 1 ยีนเท่านั้น ดังนั้น ช้างแอฟริกาซึ่งมียีนที่ควบคุมตัวรับสัญญาณกลิ่นจำนวนมาก ก็แสดงว่าช้างแอฟริกา สามารถแยกแยะกลิ่นได้หลากหลายชนิดมากกว่าสัตว์ที่มียีนควบคุมตัวรับสัญญาณกลิ่นจำนวนน้อย แม้กระนั้น การศึกษาถึงยีนที่ควบคุมตัวรับสัญญาณกลิ่นของสัตว์แต่ละชนิด ยังอยู่ในวงค่อนข้างจำกัด ถ้ามีการวิจัยในช้างเอเชีย สถิติจำนวนยีนของช้างแอฟริกา อาจถูกทำลายลงก็เป็นได้
อย่างไรก็ตาม ยีนที่ควบคุมตัวรับสัญญาณกลิ่นที่มีจำนวนมากนี้ ไม่สามารถบอกได้ว่า สัตว์ชนิดนั้น ๆ เป็นนักดมกลิ่นที่ดีหรือไม่ ต้องศึกษาต่อว่า สัตว์เหล่านั้นมีการนำสัญญาณกลิ่นที่ได้รับไปใช้อย่างไรบ้าง
ชนิดสัตว์ |
จำนวนยีนที่ทำงานควบคุมตัวรับสัญญาณกลิ่น (ยีน) |
ช้างแอฟริกา |
1,948 |
หนู (Rat) |
1,207 |
วัว
|
1,186 |
หนู (mouse) |
1,130 |
ม้า |
1,066 |
สุนัข |
811 |
หนูตะเภา |
796 |
กระต่าย |
768 |
มนุษย์ |
396 |
ชิมแปนซี |
380 |
มาร์โมเซท |
366 |
ลิงแสม |
309 |
อุรังอุตัง |
296 |
จำนวนยีนที่ทำงานควบคุมตัวรับสัญญาณกลิ่น (functional genes) ในจีโนม (genome)
ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 13 ชนิด
Elephants have twice as many olfactory receptor genes as dogs -- Genome comparison reveals mammalian diversity, University of Tokyo, 2014
ประสาทสัมผ้สด้านการดมกลิ่น ดูจะมีบทบาทสำคัญต่อการดำรงชีวิตของช้าง และช้างอาจใช้การดมกลิ่น เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการตัดสินใจในชีวิตประจำวัน
ความสามารถในการดมกลิ่น ประกอบกับความจำที่เป็นเลิศ ทำให้ช้างสามารถหาและจดจำแหล่งน้ำและอาหารได้ ว่ากันว่า ช้างสามารถได้กลิ่นแหล่งน้ำที่อยู่ไกลออกไปกว่า 19.2 กิโลเมตรเลยทีเดียว นอกจากนี้ ช้างยังสามารถแยกแยะกลิ่นปัสสาวะของสมาชิกในครอบครัว หรือในโขลงได้ด้วยการดมกลิ่น มันจึงสามารถติดตามสมาชิก หรือกลุ่มของช้างที่มีความสัมพันธ์กันแบบเครือญาติได้
ที่น่าสนใจคือ ช้างใช้ทักษะการดมกลิ่น เป็นส่วนหนึ่งในการระวังภัยด้วย โดยนักวิจัยพบว่าช้างแอฟริกา มีปฏิกิริยากลัวหรือหนีไปจากบริเวณนั้น เมื่อได้กลิ่นเสื้อผ้าที่สวมใส่โดยชาวมาซาย (Masai) ซึ่งเป็นเผ่าพันธ์ุนักรบที่ฆ่าช้าง เพื่อแสดงความเป็นชาย
บทความสำหรับอ่านเพิ่มเติม
1. "Elephants have 2,000 genes for smell- Most ever found" Posted by Christine Dell'Amore of National Geographic in Weird & Wild on July 22, 2014
2. "Elephants use their trunks to ace intelligence test" Posted by Karl Gruber for National Geographic on December 28, 2013
3. "Elephants use smell of fear to sort friend from foe" Posted by JR Minkel of Scientific American on October 18, 2007