ผิวหนัง คือ อวัยวะที่ห่อหุ้มร่างกาย เพื่อปกป้องร่างกายจากสิ่งแวดล้อม ควบคุมอุณหภูมิ รับสัมผัสหรือรับความรู้สึก และเป็นช่องทางหนึ่งในการขับถ่ายของเสีย
ผิวหนังของช้าง มีความหนาแตกต่างกันไปในบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย ส่วนที่มีความบางที่สุด อยู่บริเวณหลังใบหู หนาประมาณ 1.8 มิลลิเมตร หนังที่บริเวณโคนขาด้านใน หนาประมาณ 1 เซนติเมตร หนังที่ปกคลุมอยู่บริเวณหลังของช้าง อาจหนาถึง 3.2 เซนติเมตร และหนังบริเวณต้นขาหลังด้านนอก หนาประมาณ 2.5 เซนติเมตร
แม้ว่าหนังช้างจะมีความหนา แต่หนังของมันค่อนข้างเปราะ ไม่ได้เหนียวเหมือนหนังวัว หรือหนังควาย สีของผิวหนัง ที่จริงแล้วเป็นสีเทา แต่ช้างมักชอบเล่นและนำดินมาปกคลุมร่างกาย เพื่อปกป้องผิวจากแสงแดด จึงอาจทำให้เห็นช้างเป็นสีน้ำตาลเข้มบ้าง น้ำตาลแดงบ้าง แล้วแต่สีของดินที่อยู่บริเวณนั้น
|
ผิวหนังของช้างเอเชียอาจพบมีลักษณะเป็นรอยด่าง คล้ายตกกระ
โดยเฉพาะบริเวณ หน้า หน้างวง ใบหู และท้อง
ซึ่งเป็นเรื่องปกติ
|
บนผิวหนังของช้าง ก็มีขนเหมือนในสัตว์ชนิดอื่น ๆ ว่ากันว่าขนของช้างเอเชียและช้างแอฟริกา มีโครงสร้างที่มองเห็นด้วยตาเปล่าไม่แตกต่างไปจากช้างแมมอทขนยาวเลย
ช้างมีขนตายาวมาก ช่วยป้องกันสิ่งสกปรกไม่ให้เข้าดวงตา นอกจากรอบดวงตาแล้ว ช้างยังมีขนเยอะ บริเวณหู คาง และหาง ที่พิเศษคือ ที่ปลายงวง มีขนชนิดที่รับสัมผัสได้ดี คือ ขนชนิดที่เรียกว่า vibrissae และ vellus vibrissae (ขนอ่อน) เนื่องจากรูขุมขนมีเลือดและเส้นประสาทมาหล่อเลี้ยงมากมาย เหมือนหนวดบนหน้าของสุนัข แมว หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่น ๆ และมีปลายประสาทที่รับรู้แรงกดดันและการสั่นสะเทือนรวมอยู่ที่พื้นผิวของหนังแท้บริเวณนี้ ทำให้ลักษณะทางกายภาพของปลายงวงมีความไวต่อการรับสัมผัสเป็นอย่างดี
ผิวหนังของช้าง ไม่มีต่อมเหงื่อมากนัก ส่วนใหญ่อยู่ที่บริเวณโคนเล็บเท้าของช้าง แต่ผิวหนังช้างมีรอยย่นมากมาย เป็นการเพิ่มพื้นที่ผิว มีประโยชน์เพื่อช่วยในการระบายความร้อน และยังช่วยให้น้ำไหลกระจายทั่วตัวช้างเวลาช้างเล่นน้ำ พ่นน้ำใส่ตัว หรือเล่นโคลน เพื่อคลายร้อน