หูและใบหูของช้าง
ช้างแอฟริกามีใบหูใหญ่รูปร่างคล้ายทวีปแอฟริกา ส่วนใบหูของช้างเอเชียมีขนาดเล็กกว่ามาก โครงสร้างของใบหูจะมีแผ่นกระดูกอ่อนเป็นโครง แต่แผ่นกระดูกอ่อนนี้ไม่ได้แผ่ขยายไปจนถึงขอบใบหู
หูของช้างมีหน้าที่หลากหลาย เช่นเดียวกับในสัตว์ชนิดอื่น ๆ เช่น ใช้ฟังเสียง การทรงตัว ควบคุมอุณหภูมิร่างกาย และการส่งสัญญาณในสัตว์ชนิดเดียวกัน
ที่ด้านหลังใบหูช้าง มีโครงเครือข่ายของหลอดเลือดดำและหลอดเลือดแดงประสานกันอยู่มากมาย ตำแหน่งนี้เองที่สัตวแพทย์ใช้จับหลอดเลือดแดงเพื่อตรวจวัดชีพจรของช้าง หรือเก็บตัวอย่างเลือดจากหลอดเลือดดำ
โครงสร้างนี้ ยังเป็นส่วนหนึ่งของกลไกที่ช้างใช้ในการควบคุมอุณหภูมิร่างกายอีกด้วย
ช้างจะเอียงหูไปมาเพื่อหาตำแหน่ง แหล่งที่มาของเสียง มันยังใช้เป็นท่าทางส่งสัญญาณเตือนหรือสื่อสารกันกับช้างตัวอื่น ๆ เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ที่ช้างไม่แน่ใจ ไม่ไว้วางใจ มันอาจกางหูออก พร้อมกับหันไปทางต้นกำเนิดของเสียง แต่เมื่อเวลาอารมณ์ไม่ดี มันจะกางหูออก เพื่อให้ดูตัวใหญ่ขึ้นเป็นการข่มขู่ พร้อมกับจ้องเขม็งไปยังเป้าหมาย และอาจจู่โจมได้ทันที
ความสามารถในการได้ยินเสียงของช้าง
ช้างสามารถสร้างเสียงที่มีคลื่นความถี่ต่ำกว่าที่มนุษย์จะได้ยินได้ สันนิษฐานเอาว่าช้างใช้คลื่นความถี่ต่ำนี้ เพื่อการสื่อสารกันในระยะทางไกล ๆ ช้างจึงได้ยินเสียงที่มีคลื่นความถี่ต่ำค่อนข้างดี โดยอยู่ช่วงระหว่าง 17 - 10,500 เฮิรตซ์ (Hz) เสียงที่มีความถี่ต่ำที่สุดที่ช้างได้ยิน ต่ำกว่าที่มนุษย์ได้ยินมาก
ในทางกลับกัน ช้างไม่สามารถได้ยินเสียงที่มีความถี่เหนือกว่า 10,500 Hz ในช่วงความเข้มเสียงที่ 60 เดซิเบล แม้ว่าจะเพิ่มความเข้มเสียงให้สูงขึ้น ช้างก็ไม่สามารถได้ยินเสียงที่มีความถี่เหนือกว่า 12,000 Hz ได้
ช่วงความถี่ที่มนุษย์ได้ยินเสียง อยู่ระหว่าง 31 - 19,000 Hz
ตารางเปรียบเทียบช่วงความถี่ของคลื่นเสียงที่มนุษย์และสัตว์ต่าง ๆ ได้ยิน
By Cmglee (Own work) [CC BY-SA 3.0 (http://creativecommons.org/licenses/by-sa/3.0) ]
กลไกการควบคุมอุณหภูมิร่างกายของช้างผ่านใบหู
นอกจากใบหูช้างจะมีขนาดใหญ่แล้ว ยังมีสัดส่วนพื้นที่ผิวต่อปริมาตรค่อนข้างสูง ประกอบกับโครงเครือข่ายของหลอดเลือดดำและแดง และการโบกพัดหูของช้าง รวมเป็นกลไลหนึ่งที่ช้างใช้ในการระบายความร้อน
เมื่อช้างแอฟริกาโบกหูจะเพิ่มพื้นผิวเพื่อแผ่ความร้อน ได้ 13-20% แม้กระนั้น ก็พบว่าช้างแอฟริกาไม่ค่อยโบกหู จนกว่าอุณหภูมิแวดล้อมจะสูงถึง 25 องศาเซลเซียส
ในขณะที่ การโบกหูของช้างเอเชียเพิ่มพื้นที่ผิวเพื่อแผ่ความร้อนได้เพียง 7-10% เพราะใบหูมีขนาดเล็กกว่า
อย่างไรก็ตามความร้อนที่สูญเสียผ่านใบหูมีเพียง 8% ของความร้อนทั้งหมดที่ช้างจะสูญเสียออกจากร่างกาย