สมัยก่อน ช้างถือเป็นแรงงานสำคัญต่อธุรกิจการทำไม้ ก่อนที่จะมีเครื่องยนต์เข้ามาแทนที่ เจ้าของช้างที่ไม่รู้จักวิธีใช้งานช้างในการชักลากไม้ให้ถูกต้อง หรือไม่มีอุปกรณ์ชักลากไม้ที่เหมาะสม อาจทำให้ช้างเจ็บป่วย หรือเสียชีวิตได้ ที่เลวร้ายกว่านั้นคือ มีนายทุนลักลอบตัดไม้เถื่อนบางแห่ง ได้ผสมยาบ้าลงไปในน้ำให้ช้างกิน เพื่อเร่งช้างให้ทำงานทั้งวัน ทั้งคืน เพื่อแข่งกับเวลา จนช้างติดยา ในที่สุดก็ล้มตายอย่างอเน็จอนาถ เพราะร่างกายทนทำงานหนักและได้รับอาหารน้อยไม่ไหว กลายเป็นข่าวที่ชวนสลดใจให้ได้เห็นกันตามหน้าหนังสือพิมพ์
เราคงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ช้างเป็นสัตว์ที่มีค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดู สิ้นเปลืองมากที่สุดชนิดหนึ่ง แต่ก็สามารถทำรายได้จากการชักลากไม้ ให้กับเจ้าของได้ไม่น้อย แต่เมื่อสัมปทานการทำไม้หมดลง ก็ดูเหมือนช้างจะหมดประโยชน์สำหรับมนุษย์ไปในทันที จากที่เคยทำงาน เป็นช้างศึก เป็นราชพาหนะของพระมหากษัตริย์ เป็นกำลังสำคัญในการชักลากไม้ ก่อร่าง สร้างบ้าน แปงเมือง กลับกลายเป็นเครื่องมือขอทานสำหรับคนบางกลุ่ม และยังต้องเผชิญกับอันตราย เสี่ยงต่อการเจ็บป่วย ทุพลภาพ จนไปถึงเสียชีวิตก็มี ทำให้ประชากรของช้างมีแนวโน้มลดลง
นอกจากนั้นแล้ว ธรรมชาติของช้างเอง เป็นสัตว์ที่ต้องอุ้มท้องยาวนานกว่า 20 เดือน และมักจะเลี้ยงลูกช้างเป็นเวลากว่า 3 ปี เป็นอย่างน้อย จึงทำให้ช่วงชีวิตหนึ่งของช้างเพศเมีย มีลูกได้ไม่มากนัก เฉลี่ยประมาณไม่เกิน 6 ตัว การผสมพันธุ์ของช้าง ต้องรอระยะตกไข่ที่พอเหมาะ ซึ่งจะมีเพียง ปีละ 3 ครั้ง โดยประมาณ (ระยะตกไข่ของมนุษย์ มีเดือนละ 1 ครั้ง) ช้างที่ทำงาน บางครั้งไม่มีโอกาสได้ผสมพันธุ์ในช่วงเวลาที่เหมาะสม ทำให้อัตราการผสมติดตั้งท้องมีน้อยมาก จำนวนลูกช้างที่เกิดใหม่ ก็น้อยตามไปด้วย