ราชกิจจานุกเบกษา เล่มที่ 132 ตอนที่ 3 ก ลงวันที่ 21 มกราคม 2558
พระราชบัญญัติงาช้าง พ.ศ. ๒๕๕๘
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยงาช้าง
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติงาช้าง พ.ศ. ๒๕๕๘"
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้
"ช้าง" หมายความว่า ช้างที่เป็นสัตว์พาหนะตามกฎหมายว่าด้วยสัตว์พาหนะ
"งาช้าง" หมายความว่า งา ขนาย หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากงาหรือขนายของช้าง ทั้งที่ยังมีชีวิตหรือที่ตายแล้ว
"ค้า" หมายความว่า ซื้อ ขาย แลกเปลี่ยน จำหน่าย จ่าย แจก หรือโอนกรรมสิทธิ์ ทั้งนี้ โดยทำเป็นปกติและเพื่อประโยชน์ในทางการค้า และหมายความรวมถึงมีหรือแสดงไว้เพื่อการค้าด้วย
"นำเข้า" หมายความว่า นำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักร
"ส่งออก" หมายความว่า นำหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร และให้หมายความรวมถึงนำหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ซึ่งงาช้างที่เคยนำเข้ามาหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร
"นำผ่าน" หมายความว่า นำหรือส่งผ่านราชอาณาจักร
"อธิบดี" หมายความว่า อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
"พนักงานเจ้าหน้าที่" หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
"รัฐมนตรี" หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๔ ผู้ใดประสงค์จะค้างาช้าง ให้ยื่นคำขออนุญาตต่ออธิบดี
หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาต การอนุญาต การค้า และการพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาต ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
ให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๖ และบทกำหนดโทษในการฝ่าฝืนมาตรา ๖ วรรคหนึ่ง หรือวรรคห้า มาใช้บังคับแก่ผู้ได้รับอนุญาตให้ค้างาช้างด้วยโดยอนุโลม
มาตรา ๕ ห้ามมิให้ผู้ใดนำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านซึ่งงาช้าง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดี
หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
ผู้ได้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดในกฎกระทรวงและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ใน ใบอนุญาต
มาตรา ๖ ผู้ใดมีไว้ในครอบครองซึ่งงาช้างโดยไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อการค้า ให้มาแจ้งการครอบครองพร้อมเอกสารการได้มาซึ่งงาช้างตามกฎหมายว่าด้วยสัตว์ พาหนะต่ออธิบดีตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
ภายหลังจากได้รับแจ้งการครอบครอง ให้อธิบดีออกเอกสารการครอบครองงาช้างให้แก่ผู้แจ้งการครอบครองไว้เป็นหลัก ฐานตามแบบที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
ในกรณีที่ตรวจพบหรือมีเหตุอันควร สงสัยในภายหลังจากที่ได้รับแจ้งการครอบครองว่า งาช้างใด มิใช่งาช้างตามกฎหมายว่าด้วยสัตว์พาหนะ อธิบดีอาจมีคำสั่งให้ผู้ครอบครองนำเอกสารหรือหลักฐานมาพิสูจน์ได้
เหตุอันควรสงสัยและการนำเอกสารหรือหลักฐานมาพิสูจน์ตามวรรคสาม ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
ในกรณีที่เจ้าของหรือผู้ครอบ ครองไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่างาช้างในความครอบครองเป็นงาช้างที่ได้มาจากช้าง ที่เป็นสัตว์พาหนะ ให้งาช้างนั้นตกเป็นของแผ่นดิน และให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองส่งมอบงาช้างให้แก่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ภายในสามสิบวันนับจากวันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่งจากอธิบดี
ในกรณีที่เจ้าของหรือผู้ครอบครองตามวรรคสามไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของอธิบดี ตามวรรคห้า ให้มีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีภายในสิบห้าวันนับจากวันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง
คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด
มาตรา ๗ ในกรณีผู้ซึ่งครอบครองงาช้างตามมาตรา ๖ หรือมาตรา ๑๙ ประสงค์จะโอนการครอบครอง เปลี่ยนแปลงสถานที่ครอบครอง แปรสภาพ หรือเปลี่ยนรูปร่างงาช้างที่อยู่ในความครอบครองต้องแจ้งเป็นหนังสือต่อ อธิบดีก่อนวันที่จะมีการโอนการครอบครอง เปลี่ยนแปลงสถานที่ครอบครอง แปรสภาพ หรือเปลี่ยนรูปร่างงาช้าง
ในกรณีที่เป็นการโอนการครอบครอง ให้อธิบดีระบุชื่อผู้รับโอนไว้ในเอกสารการครอบครอง ที่ออกให้ไว้ตามมาตรา ๖ หรือมาตรา ๑๙
หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการแจ้ง ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
มาตรา ๘ บทบัญญัติแห่งมาตรา ๖ และมาตรา ๗ มิให้ใช้บังคับแก่ผู้ครอบครองงาช้างตามลักษณะหรือขนาดที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
มาตรา ๙ ในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจ ดังต่อไปนี้
(๑) เข้าไปในสถานที่ที่ได้รับอนุญาตให้ค้างาช้างในระหว่างเวลาพระอาทิตย์ขึ้น จนถึงพระอาทิตย์ตก หรือในเวลาทำการของสถานที่นั้นเพื่อตรวจสอบการดำเนินการ เอกสาร หรือหลักฐาน หรือข้อมูลที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการกระทำใดๆ ที่อาจเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวง ประกาศ หรือตามที่กำหนดในใบอนุญาต
(๒) ค้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาซึ่งสถานที่หรือยานพาหนะใดๆ ที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ รวมทั้งมีอำนาจยึดหรืออายัดงาช้าง เอกสารหรือหลักฐานหรือวัตถุใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบหรือดำเนินคดี
(๓) มีหนังสือเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคำหรือให้ส่งเอกสารหรือวัตถุใดๆ มาเพื่อประกอบการพิจารณาเกี่ยวกับการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้
ในการปฏิบัติหน้าที่ตาม (๑) พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องไม่กระทำการอันมีลักษณะเป็นการค้นตามประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา ๑๐ ในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ผู้ซึ่งเกี่ยวข้องอำนวยความสะดวกตามสมควร
มาตรา ๑๑ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องแสดงบัตรประจำตัวแก่บุคคลที่เกี่ยวข้อง
บัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ให้เป็นไปตามแบบที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
มาตรา ๑๒ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
เพื่อประโยชน์ในการจับกุมผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธี พิจารณาความอาญา
มาตรา ๑๓ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๔ วรรคหนึ่ง หรือมาตรา ๕ วรรคหนึ่ง หรือประกาศที่ออกตามความในมาตรา ๑๘ วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๑๔ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๖ วรรคหนึ่ง หรือวรรคห้า หรือมาตรา ๗ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามล้านบาท
มาตรา ๑๕ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๐ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท
มาตรา ๑๗ ความผิดตามมาตรา ๑๔ และมาตรา ๑๕ ให้คณะกรรมการเปรียบเทียบมีอำนาจเปรียบเทียบได้
ในกรณีที่พนักงานสอบสวนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่พบว่าผู้ใดกระทำความผิดตาม วรรคหนึ่งและผู้นั้นยินยอมให้เปรียบเทียบ ให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ แล้วแต่กรณี ส่งเรื่องให้คณะกรรมการเปรียบเทียบภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ผู้นั้นแสดงความ ยินยอมให้เปรียบเทียบ
เมื่อผู้ต้องหาได้ชำระเงินค่าปรับตามจำนวนที่เปรียบเทียบภายในระยะเวลา สามสิบวันนับแต่วันที่มีการเปรียบเทียบ ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ถ้าผู้ต้องหาไม่ยินยอมตามที่เปรียบเทียบ หรือเมื่อยินยอมแล้วไม่ชำระเงินค่าปรับภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้ดำเนินคดีต่อไป
มาตรา ๑๗ คณะกรรมการเปรียบเทียบตามมาตรา ๑๖ ให้ประกอบด้วยผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นประธานกรรมการ ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นกรรมการและผู้แทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมเป็นกรรมการและเลขานุการ โดยให้มีทั้งในเขตกรุงเทพมหานครและในส่วนภูมิภาคได้ตามที่รัฐมนตรีกำหนดตาม ความเหมาะสม
หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาของคณะกรรมการเปรียบเทียบให้เป็นไปตามที่ รัฐมนตรีกำหนด
มาตรา ๑๘ ผู้ใดค้างาช้างอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ ให้ยื่นคำขออนุญาตต่ออธิบดีภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้มี ผลใช้บังคับ โดยต้องจัดทำบัญชีการได้มา การแปรรูป และการค้างาช้างด้วย และเมื่อยื่นคำขออนุญาตแล้วให้ค้างาช้างต่อไปได้จนกว่าจะได้รับแจ้งคำสั่ง ไม่อนุญาตจากอธิบดี
การยื่นคำขออนุญาตและการจัดทำบัญชีการได้มา การแปรรูป และการค้างาช้าง และการอนุญาต ตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา ๑๙ ผู้ใดได้มาหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งงาช้างก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้ บังคับให้แจ้งการครอบครองโดยระบุจำนวน ขนาด พร้อมทั้งส่งภาพถ่ายของงาช้างต่ออธิบดีภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราช บัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ และให้อธิบดีออกเอกสารการครอบครองงาช้างให้แก่ผู้แจ้งการครอบครองไว้เป็น หลักฐานตามแบบที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
ในกรณีที่ตรวจพบหรือมีเหตุอัน ควรสงสัยในภายหลังจากที่ได้รับแจ้งการครอบครองว่า งาช้างใดมิใช่งาช้างตามกฎหมายว่าด้วยสัตว์พาหนะ อธิบดีอาจมีคำสั่งให้ผู้ครอบครองนำเอกสารหรือหลักฐานมาพิสูจน์ได้ และให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๖ วรรคห้า วรรคหก และวรรคเจ็ด มาใช้บังคับโดยอนุโลม
หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการแจ้งการครอบครองตามวรรคหนึ่งเหตุอันควรสงสัย และการนำเอกสารหรือหลักฐานมาพิสูจน์ตามวรรคสอง ให้เป็นไปตามที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา ๒๐ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรักษาการตามพระราช บัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่กับออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียม ไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้ ลดหรือยกเว้นค่าธรรมเนียม และกำหนดกิจการอื่นหรือออกประกาศ เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวงและประกาศนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ประยุทธ์ จันโอชา
นายกรัฐมนตรี
อัตราค่าธรรมเนียม
๑. ใบอนุญาตค้างาช้าง ฉบับละ ๕๐,๐๐๐ บาท
๒. ใบอนุญาตให้นำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านซึ่งงาช้าง ฉบับละ ๕๐,๐๐๐ บาท
๓. ใบแทนอนุญาต ฉบับละ ๑,๐๐๐ บาท
หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายควบคุมการค้า การครอบครอง การนำเข้า การส่งออก การนำผ่านซึ่งงาช้าง หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากงาช้างตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า แต่ยังไม่มีกฎหมายควบคุมการค้า การครอบครอง การนำเข้า การส่งออก และการนำผ่านซึ่งงาช้างหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากงาช้างตามกฎหมายว่าด้วยสัตว์พาหนะ จึงได้มีการนำช้างป่าตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่ามาสวมสิทธิและจดทะเบียนเป็นสัตว์พาหนะเพื่อตัดงาช้าง รวมถึงการลักลอบนำเข้างาช้างแอฟริกาเพื่อนำมาค้าหรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำจากงาช้าง ประกอบกับประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora (CITES)) จึงมีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาที่กำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องมีมาตรการควบคุมการค้า การครอบครอง การนำเข้า การส่งออก และการนำผ่านซึ่งงาช้างหรือผลิตภัณฑ์ที่ได้มาจากการแปรรูปงาช้างภายในประเทศมิให้ปะปนกับงาช้างที่ได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้